วาสนา นาน่วม (ชื่อเล่น: เล็ก) ผู้สื่อข่าวสายทหารหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และ โพสต์ทูเดย์ ผู้เขียนหนังสือชุดลับ ลวง พราง และผู้ดำเนินรายการวิทยุ “ลับ ลวง พราง” ทางโมเดิร์นเรดิโอ เอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิร์ตซ์
ในหมู่ของผู้ที่ศึกษาด้านการทหาร ชื่อของ วาสนา นาน่วม นั้นเป็นที่รู้จักกันดี เพราะเป็นผู้ที่มีข่าวคราวจากการสอบถามไปยังนายทหารระดับสูงหลายครั้ง
วาสนา เกิดเมื่อ16 มกราคม พ.ศ. 2512 ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรสาวคนที่ 9 จากจำนวนพี่น้องทั้งสิ้น 10 คน ของประพันธ์ และพิไลสรรพ์ นาน่วม ในวัยเด็ก ชอบเล่นซุกซนกับพี่ ๆ หรือเพื่อนๆ ที่เป็นผู้ชาย มากกว่าจะเล่นกับผู้หญิงด้วยกัน จนถูกให้ฉายาว่า หญิงเหล็ก[ต้องการอ้างอิง]
เนื่องจากบิดาเป็นข้าราชการตำแหน่งสมุห์บัญชีประจำอำเภอต่างๆ จึงทำให้ช่วงประถมศึกษา ต้องย้ายโรงเรียนหลายครั้ง จากนั้นจึงมาจบการศึกษาระดับมัธยมต้นจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี มัธยมปลายสายศิลป์-ภาษาอังกฤษ-ฝรั่งเศส โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรวารสารศาสตรบัณฑิต (หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์; เกียรตินิยมอันดับสอง) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และปริญญาโท รัฐศาสตร์ การเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2543
เริ่มต้นการเป็นสื่อมวลชน ขณะกำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยเข้าเป็นผู้สื่อข่าวฝึกงานในสายทหาร กับหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในยุคที่พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บัญชาการทหารบก ต่อมา เมื่อกำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 เข้าฝึกงานข่าวสายทหาร ของหนังสือพิมพ์แนวหน้า พร้อมกับทำสารนิพนธ์ในหัวข้อ ปร.42 กับการสั่งปิดหนังสือพิมพ์แนวหน้า
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) รัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ หลังจากนั้น มีประกาศ รสช. ฉบับที่ 14 ที่มีลักษณะคล้ายการนำประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 พุทธศักราช 2519 (ปร.42) ที่ว่าด้วยการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลพลเอกชาติชายได้ยกเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. 2533 ซึ่งวาสนารู้สึกเสียใจ และรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เธอจึงโทรศัพท์ชวนเพื่อนๆ เข้าร่วมประท้วง หรือแสดงความเคลื่อนไหวต่อต้าน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[ต้องการอ้างอิง]แต่คำตอบที่ได้รับจากเพื่อนคือ ที่ธรรมศาสตร์ไม่มีปฏิกิริยา หรือความเคลื่อนไหวใดๆ เลย ส่งผลให้วาสนารู้สึกเสียใจยิ่งขึ้นไปอีก[ต้องการอ้างอิง]
จากนั้น ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 วาสนาได้รับหน้าที่ให้เข้าไปทำข่าว จนสามารถรับรู้ความรู้สึกของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังทหาร หรือมวลชนผู้ประท้วง ต่อมา เข้าเป็นผู้สื่อข่าวสายทหาร กับหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เป็นผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงและทหาร กับหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ จนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 วาสนาเขียนหนังสือ เส้นทางเหล็ก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ซึ่งเป็นชีวประวัติของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับจากแต่งตั้งจาก คมช. จนกลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดี ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2549[ต้องการอ้างอิง]
จากนั้น ในต้นปี พ.ศ. 2551 หลังรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ หมดวาระลง วาสนาก็ออกหนังสือ ลับ ลวง พราง ปฏิวัติปราสาททราย (สำนักพิมพ์มติชน) ซึ่งเป็นการเปิดเผยถึง เบื้องลึกเบื้องหลังของการรัฐประหาร 19 กันยายน ซึ่งได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และนายทหารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็เป็นหนังสือติดอันดับขายดีเช่นเดียวกัน ต่อมา เมื่อต้นปี พ.ศ. 2552 วาสนาเขียนหนังสือออกมาสองเล่ม คือ ลับ ลวง พราง ภาคพิสดาร เป็นเรื่องความเชื่อด้านไสยศาสตร์ของนายทหารใน คมช. และ ลับ ลวง พราง ภาค 2 ซ่อนรูปปฏิวัติ หัก ‘เหลี่ยม’ โหด ซึ่งมีเรื่องราวต่อเนื่องจากเล่ม 1 โดยเรียบเรียงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และนายทหารที่เกี่ยวข้อง
ส่งผลให้คำว่า ลับ ลวง พราง กลายเป็นคำศัพท์ทางการเมือง ที่หมายถึง การเก็บความลับ ล่อลวง และอำพราง เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรับรู้ความคิดของตน[ต้องการอ้างอิง]
ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2551 สำนักข่าวไทย บมจ.อสมท ได้เชิญให้วาสนาเป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุ ลับ ลวง พราง ที่เธอจะเป็นผู้สัมภาษณ์นายทหารคนสำคัญ ที่กำลังเป็นที่สนใจ หรือกำลังตกเป็นข่าวในแวดวงการทหาร และการเมืองไทย ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 08.10-09.30 น. ทางสถานีวิทยุ อสมท โมเดิร์น เรดิโอ เอฟเอ็ม 100.5 เมกะเฮิร์ตซ์
ในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ในรายการลับ ลวง พราง ที่เธอจัดเป็นนั้นได้เปิดเทปบันทึกเสียงคำให้สัมภาษณ์ของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรีโดยมีเนื้อหาว่า พลเอกสุรยุทธ์นั้นพร้อมที่จะพูดคุยกับพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้หยุดการเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่ข่าวออกไปเป็นในทำนองว่า พลเอกสุรยุทธ์จะเป็นคนกลางเจรจาสมานฉันท์กับ พันตำรวจโททักษิณ ในที่สุดในวันที่ 22 ธันวาคม พล.อ.สุรยุทธ์ได้ออกมาแถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง ที่จริงแล้วเป็นเรื่องแค่การพูดคุย ตนพร้อมจะพูดคุย และพร้อมรับฟังปัญหาต่าง ๆ ทุกประการ แต่ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปปฏิบัติหรือไปทำในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่นับต่อไปนี้จะให้สัมภาษณ์อะไรกับสื่อมวลชนต้องระวังมากขึ้น และวาสนาก็ไม่ใช่วาสนาคนเดิมอีกต่อไปแล้ว ซึ่งส่วนของวาสนานั้น ก็ได้กล่าวว่าตนไม่ได้ชี้นำในรายการ แต่ที่มีข่าวออกมาหลังจากนั้น คงเป็นมาจากการขยายความมาจากการสัมภาษณ์ พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี นายทหารเตรียมทหาร 10 (ตท.10) เพื่อนรักของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ถึงกรณีนี้หลังจากนั้นมากกว่า